ประวัติโรงเรียน
|
โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2460 เดิมเป็นโรงเรียนรัฐบาล
ชื่อโรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอห้วยเหนือ ตั้งอยู่ที่ศาลาวัดกลาง (อัมรินทราวาส) หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยเหนืออำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ครูใหญ่คนแรกคือ นายบุญส่ง ศรีมงคล รองอำมาตย์โทขุนไศลศิริรักษ์
(ซุย นาคสิงหราช) เป็นผู้อุปการะโรงเรียน
โรงเรียนเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 2 ตามหลักสูตรประถมศึกษา ขณะนั้นมีนักเรียนรุ่นแรก เป็นชาย 48 คน หญิง 7 คน รวม 55 คน เปิดเรียนจากวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. มีพักกลางวันเวลา 11.00 – 12.00 น. และพักน้อยเวลา 14.00 – 14.15 น. วันเสาร์หยุดเรียนครึ่งวัน วันอาทิตย์หยุดเต็มวัน เก็บค่าเล่าเรียนเป็นเทอม รวมเก็บปีละ 1.50 บาท ระหว่าง พ.ศ. 2460 - 2468
มีการย้ายที่ตั้งโรงเรียน ดังนี้
1. ศึกษาธิการจังหวัดได้มาตรวจราชการ เห็นว่าสถานที่ตั้งไม่เหมาะสม จึงพร้อมด้วย รองอำมาตย์โทขุนไศลศิริรักษ์ (เป้ย ส่งศรี) นายอำเภอห้วยเหนือ ได้สั่งย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่ไปรษณีย์เก่า ของนายสมบูรณ์ สมุห์บัญชี ที่สี่แยกต้นยางใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยเหนือ
2. รองอำมาตย์โทหลวงวัฒนวงษ์ โทนุบล (โทน สุวรรณกูฏ) นายอำเภอห้วยเหนือ
ได้สั่งย้ายกลับไปสอนที่ศาลาวัดกลางตามเดิม ตามคำสั่งจังหวัดที่ 121/928 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2464
3. ในปี พ.ศ. 2465 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ในตำบลห้วยเหนือ โรงเรียนจึงได้เปลี่ยนจากโรงเรียนรัฐบาล มาเป็นโรงเรียนประชาบาลที่นายอำเภอจัดตั้ง เมื่อวันที่ 26 เดือนสิงหาคม 2465 จัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียนและได้แยกจากโรงเรียนรัฐบาลเดิมไปสอนที่ศาลา
วัดไทยเทพนิมิต ใช้ชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลห้วยเหนือ (วัดเทพนิมิต) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยเหนือ
นายนุช ธรรมปัญญา เป็นครูใหญ่สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 2 เวลาเปิดเรียนเหมือนเดิม มีนักเรียนทั้งสิ้น ชาย 110 คน หญิง 35 คน รวม 145 คน เงินเดือนครูและค่าใช้สอยได้จากการเก็บเงินศึกษาพลีจากชายฉกรรจ์ ตำบลห้วยเหนือ คนละ 2 บาทต่อปี วันที่ 12 มิถุนายน 2468 ได้ยุบโรงเรียนวัดไทยเทพนิมิต ไปรวมกับโรงเรียนประจำอำเภอเช่นเดิม และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลห้วยเหนือ” ตั้งอยู่ที่
วัดกลาง(อัมรินทราวาส) การก่อสร้างอาคารเรียนเป็นเอกเทศถาวรและตั้งชื่อโรงเรียน
รองอำมาตย์เอกหลวงประชากรเกษม (เป้ย ส่งศรี) นายอำเภอห้วยเหนือในขณะนั้น ดำริว่าควรจะสร้างอาคารเรียนให้เป็นเอกเทศถาวร จึงได้นำเงินศึกษาพลีที่เหลือจ่ายตั้งเป็นทุน แล้วเป็นผู้นำทำการขอรับบริจาคจากพ่อค้า ประชาชนและข้าราชการ ให้เสียสละเงินมาสมทบ ได้รวมทั้งสิ้น 6,000 บาท ดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนของกระทรวงธรรมการ ทำการปลูกสร้างบริเวณที่ดินทิศตะวันออกที่ว่าการอำเภอห้วยเหนือหลังเดิม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2472 ตรงกับวันจันทร์ เดือน 4 ปีมะเส็ง แบบอาคารเรียนเป็นทรงปั้นหยาชั้นเดียวใต้ถุนสูง กว้าง 11 เมตร ยาว 34 เมตร มีมุขยื่นออกข้างละ 1 มุข รวม 2 มุข
มุขละ 3 เมตรสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2473 ตรงกับวันอาทิตย์ เดือน 3 ปีมะเมียใช้เวลาก่อสร้าง 11 เดือน 25 วัน มหาอำมาตย์โทพระยาเพชรดา สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา เป็นผู้ให้นามโรงเรียนว่า “ศรีประชานุกูล”เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาศรีพิชัยบริบาลผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์และรองอำมาตย์เอกหลวงประชากรเกษม นายอำเภอห้วย-เหนือ ซึ่งเป็นผู้จัดการและอำนวยการก่อสร้างจนสำเร็จ โดยได้จัดงานเปิดป้ายฉลองอาคารเรียนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2473 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 4 ปีมะเมีย ชื่อเต็มของโรงเรียน ในขณะนั้น คือ “โรงเรียนบ้านห้วยเหนือ (ศรีประชานุกูล)”
เหตุการณ์ที่สำคัญในการต่อเติมและย้ายสถานที่ก่อตั้งโรงเรียน
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2493 ทางราชการได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอขึ้น ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนขุขันธ์” แต่ยังไม่ได้ก่อสร้างอาคารเรียน จึงได้ขออนุญาตใช้ห้องเรียนของโรงเรียนบ้านห้วยเหนือ (ศรีประชานุกูล) ไปพลางก่อน จนถึงวันที่ 1 กันยายน 2475 โรงเรียนขุขันธ์ จึงได้ย้ายไปอยู่ ณ ที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน
วันที่ 17 พฤษภาคม 2499 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมสามัญ สังกัด กองการศึกษาพิเศษขึ้น เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 หลักสูตรพิเศษมีวิชาชีพด้วย ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนขุขันธ์วิทยา” อาคารเรียนยังไม่ได้ก่อสร้าง จึงอาศัยเรียนที่โรงเรียนศรีประชานุกูล จนอาคารเรียนก่อสร้างเสร็จ จึงได้ย้ายไปอยู่ ณ ที่ตั้งโรงเรียนขุขันธ์วิทยาในปัจจุบัน
ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2506 ถึงเดือนมกราคม 2510 นายโพธิ์ จันทร ครูใหญ่
ได้ดำเนินการต่อเติมอาคารเรียนจากเดิมมาเป็นขนาด 11 X 62 เมตร เพิ่มมุขอีก 1 มุข งบประมาณได้จากการ
จัดงานศิษย์เก่าเมื่อปี 2505 จำนวน 32,000 บาท งบเงินเดือนเหลือจ่ายกรมสามัญศึกษาปี 2509 สมทบอีก 110,000 บาท รวมห้องต่าง ๆ ทั้งหมด 22 ห้อง
วันที่ 1 ตุลาคม 2509 โอนจากกรมสามัญศึกษา ไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ศรีสะเกษ ตามพระราชบัญญัติโอนการศึกษาประชาบาล
ระหว่าง พ.ศ. 2515 - 2518 นายประทีป ขุขันธิน ครูใหญ่ ได้ดำเนินการย้ายอาคารเรียน มาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน อยู่ตรงกันข้ามกับโรงเรียนขุขันธ์ ซึ่งเป็นที่ดินของโรงเรียนเอง เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 1 งาน สาเหตุการย้ายที่ตั้งโรงเรียน เพราะบริเวณเดิมคับแคบอยู่แล้ว ประจวบกับมีการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแยกจากถนนสายโชคชัย-เดชอุดม เข้าสู่ตัวอำเภอขุขันธ์ ที่ดินของโรงเรียนบริเวณด้านทิศตะวันออก ที่ติดถนนต้องถูกเวนคืน ด้วยทำให้บริเวณคับแคบมากยิ่งขึ้น ในขณะที่จำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นทุกปี
การก่อสร้างอาคารเรียนในที่ตั้งใหม่ ได้งบประมาณจากงบเงินเดือนเหลือจ่ายจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 180,000 บาท สร้างแบบ ศก 01 ใต้ถุนสูงขนาด 5 ห้องเรียน เมื่อสร้างเสร็จได้ย้ายนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 4 มาเรียนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2517
ปี พ.ศ. 2518 จังหวัดได้อนุมัติเงินเดือนเหลือจ่ายจาก 60,000 บาท เงินภาษีสุรา
ส่วนอำเภอขุขันธ์อนุมัติให้อีก 100,000 บาท ให้ดำเนินการรื้อถอนอาคารเรียนเก่าทั้งหมดมาสร้างใหม่
แบบ ศก.01 ขนาด 5 ห้องเรียน เคียงคู่กับหลังแรก ห่างกัน 6 เมตร และในเดือนเมษายน 2518 ทางอำเภอได้อนุมัติเงิน ผ.ช.ล.ต.จำนวน 140,000 บาท มาทำการต่อเติมอาคารชั้นล่างทั้งสองอาคาร ได้ห้องเรียนเพิ่มอีก 10 ห้องเรียน รวมเป็น 20 ห้องเรียน เดือนมีนาคม 2525 นายประทีป โรจนากาศ ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษพร้อมด้วยนายประกอบ พรหมรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน นายสวัสดิ์ สิงห์คำ ครูใหญ่ ได้เสนอโครงการต่อเติมอาคารเรียนเป็นกรณีพิเศษ โดยสร้างต่อเติมระหว่างอาคารทั้งสองหลังเชื่อมเป็นอาคารหลังเดียว ต่อเติมด้านข้างของแต่ละหลังออกไป ด้านละ 6 เมตร ทำเป็นมุข 3 มุข ได้เสนอโครงการไปตามลำดับชั้น โดยมีนายสนิท ลีลาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้ติดตามเรื่องให้ ในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการ
การประถมศึกษาแห่งชาติได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 600,000 บาท ให้ดำเนินการต่อเติมจนแล้วเสร็จ
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2525 ปัจจุบันอาคารเรียนทั้งหมดได้รื้อถอนแล้ว ปีงบประมาณ 2538 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 2 /28 เป็นอาคาร 3 ชั้น ขนาด 9 ห้องเรียน (ครึ่งหลัง) และในปีงบประมาณ 2540 ได้รับงบประมาณมาต่อเติมจนครบเต็มหลัง 18 ห้องเรียน
ปีงบประมาณ 2539 โรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก นายสวัสดิ์ สืบสายพรหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายมานพ จรัสดำรงนิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ จัดสรรงบประมาณพัฒนาจังหวัด จำนวน 2,500,000 บาท ให้ก่อสร้างหอประชุมแบบ สปช. 206/26 จำนวน 1 หลัง ปีงบประมาณ 2553 โรงเรียนได้รับงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 2/28 (ปรับปรุง) 3 ชั้น 18 ห้องเรียน วงเงินงบประมาณ 9,186,000 บาทจำนวน 1 หลัง ปี พ.ศ. 2554 นายดำริห์ อำนวยสวัสดิ์ ได้เสนอความเห็นให้มีการจัดสร้างอาคารเรียนปฐมวัย
เป็นการเฉพาะต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการให้ความเห็นชอบโดยสร้างอาคารเรียนขนาด 9 ห้อง กว้าง 9 เมตร ยาว 81 เมตร โดยใช้เงินบริจาค และดำเนินการสร้างเมื่อเดือนมกราคม 2554 แล้วเสร็จ เมื่อ 30 เมษายน 2555 และทำพิธีทำบุญขึ้นอาคารพร้อมเปิดป้าย “อาคารเฉลิมพระเกียรติ
7 รอบ พระชนมพรรษา” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ในปีงบประมาณ 2555 โรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุน (งบแปรญัตติ) จากนายวีรพล จิตสัมฤทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ ให้จัดสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.105 /29 (ปรับปรุง) 2 ชั้น 5 ห้องเรียน ใต้ถุงโล่งในวงเงินงบประมาณ 4,149,100 บาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556
ปี พ.ศ.2556 นายดำริห์ อำนวยสวัสดิ์ ให้มีการจัดสร้างอาคารศิลปะ-ดนตรี เพื่อใช้ใน การเรียนการสอนวิชาในกลุ่มศิลปะ ขนาด 3 ห้องเรียนและห้องเก็บพัสดุ 4 ห้อง มีขนาดกว้าง 9 เมตร
ยาว 39 เมตร โดยใช้เงินบริจาคโดยกำหนดเริ่มการก่อสร้างในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 แล้วเสร็จเมื่อ
วันที่ 30 เมษายน 2557
ปี พ.ศ. 2560 นายดำริห์ อำนวยสวัสดิ์ ให้มีการจัดสร้างอาคาร 100 ปีศรีประชา เพื่อใช้เป็นอาคารเกียรติยศ แสดงประวัติความเป็นมาและรางวัลระดับต่าง ๆ ที่โรงเรียนได้รับมาจากอดีตถึงปัจจุบันโดยใช้เงินบริจาค 2,740,000 (สองล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) เริ่มก่อสร้าง 3 มกราคม พ.ศ.2561 แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561
ปี พ.ศ. 2561 นายครรชิต ไชยโพธิ์ ให้มีการจัดสร้างอาคารเรียน 6 อาคารแบบ สปช. 2/28 ปรับปรุง 3 ชั้น 15 ห้องเรียน เพื่อใช้ในการเรียนการสอน เริ่มก่อสร้างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 8,228,000 (แปดล้านสองแสน
สองหมื่นแปดพันบาทถ้วน)
การแก้ไขชื่อโรงเรียน
ในปี พ.ศ. 2525 นายสวัสดิ์ สิงห์คำ อาจารย์ใหญ่ได้ดำเนินการขอแก้ไขชื่อจากโรงเรียนบ้านห้วยเหนือ (ศรีประชานุกูล) เป็นโรงเรียน “ศรีประชานุกูล” เนื่องจากเห็นว่าโรงเรียนมีหมู่บ้านในเขตบริการหลายหมู่บ้าน คือ บ้านห้วย บ้านตาปิ่น บ้านแตระ บ้านหาด บ้านภูมิและบ้านเจ๊ก ดังนั้นชื่อโรงเรียนควรเป็นชื่อกลางๆ และเพื่อ เป็นการระลึกถึงนามของผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนเอกเทศถาวรหลังแรกของโรงเรียนด้วย โดยดำเนินการตามขั้นตอนคือผ่านที่ประชุมครู อาจารย์คณะกรรมการศึกษา เสนอตามลำดับ และคณะกรรมการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศรีประชานุกูล”ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2525 ตามหนังสือที่ ศธ 1461.04/3436 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2525
ในปีการศึกษา 2540 โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนสหวิทยาเขตมหามงคลตามนโยบาย ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการเลือกโรงเรียนประถมศึกษาในอำเภอ อำเภอละ 1 โรงเป็นโรงเรียนตัวอย่างโดยให้ใช้ชื่อเป็น “โรงเรียนอนุบาล” ต่อด้วยชื่ออำเภอ ซึ่งโรงเรียนจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนอนุบาล
ขุขันธ์” โดยทางสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีการศึกษา 2543 นายพิทยา สุดา ผู้อำนวยการ ได้ประชุมคณะครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาเห็นว่าชื่อ “ศรีประชานุกูล” เป็นชื่อที่มีประวัติมายาวนาน จึงขอความเห็นชอบไปยังคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อขอใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล” และได้รับอนุมัติให้ใช้ชื่อนี้
|